หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยได้ให้สิทธิและเสรีภาพคนพิการตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่รัฐ และคนในสังคมจะต้องตระหนักและปฏิบัติประหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ยังมีบางคนที่ยังมองว่าคนพิการเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารแล้วต้องตกอยู่ในสถานะเป็นผู้รับอย่างเดียว จึงทำให้สิทธิของคนพิการในช่วงนั้นยังไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก
แต่ในปัจจุบันนี้คนพิการเริ่มมีบทบาทและได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ สิทธิของคนพิการได้รับความสนใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมุมมองของคนปกติที่มองผู้พิการก็ยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ดี คนในสังคมหลายคนก็จะนึกถึงคนที่นั่งอยู่บนรถเข็น ที่ต้องได้รับการปกป้องดูแล และช่วยเหลือตลอดเวลา เป็นบุคคลน่าเวทนาที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ดังนั้นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้พิการจึงกลายเป็นกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้ กับ ผู้รับ
คนพิการก็คือ “คน” เหมือนเราทุกคนทุกประการ เพียงแค่คนพิการอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ หรือ อาจต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นแต่ก็ยังมีคนพิการบางคนที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพเพื่อให้ตัวเองไม่เป็นภาระของสังคม
ในปัจจุบันมีผู้พิการเริ่มแสดงศักยภาพให้สังคมเห็นว่า พวกเขาไม่ใช่ภาระของสังคมอีกต่อไป และสามารถเป็นบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันความเจริญของประเทศไม่แพ้คนปกติ โดยใช้ความรู้ความสามารถทางกายภาพในด้านต่าง ๆ เช่น งานด้านวิชาการ งานสอนหนังสือ นักเขียน ศิลปิน นักดนตรี นักร้อง นักแสดง นักบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ งานศิลปะทั้งจิตรกรรม และประติมากรรม เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม และได้รับการยอมรับมากขึ้น จนสามารถก้าวข้ามคำว่าพิการและสามารถทำให้สังคมยอมรับมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมอีกมากมาย
ปัญหาที่สำคัญอีกประการ คือคนพิการมีข้อจำกัดต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนคนปกติ โดยเฉพาะการเข้าถึงโอกาสในการสมัครงานตามองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการเข้าถึงช่องทางการหารายได้ หรือการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ผลงานของตนออกสู่สาธารณะ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตและการดำรงชีพอยู่ของคนพิการ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐ และสังคมควรหันมามองคนพิการ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงนี้ ให้หลุดพ้นจากวังวนคุณภาพชีวิตแบบเดิม มาเป็นชีวิตที่มีความเท่าเทียม มีความหวัง และแสงสว่างที่สดใส
ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์
จุดเริ่มต้น ในปี 2561 เริ่มดำเนินกิจกรรมในชื่อโครงการ "บ้านศิลปะเอกชัย วรรณแก้ว" ศิลปะเพื่อผู้ด้อยโอกาส ลงพื้นที่จัดกิจกรรมสอนศิลปะ และทำกิจกรรมการกุศลเป็นประจำทุกปี ภายใต้ชื่อกิจกรรมที่ว่า "Pay It Forward ยิ่งให้ยิ่งสุขใจ" มาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 6 ปี ต่อมา อาร์ตโนแฮนด์ จึงได้ก่อตั้งขึ้นจากโครงการที่ชื่อ “Art by Heart Art no Hand” ในเดือนมกราคม 2564 โดยการนำของ คุณเอกชัย วรรณแก้ว (ศิลปินไร้แขน) และคุณจารุวรรณ เวชตระกูล เพื่อให้เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนพิการที่มีความสามารถด้านงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม นำมาพัฒนาหรือต่อยอดเป็นสินค้าออกสู่ตลาด
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ได้จดทะเบียนนิติบุคคล นามว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อาร์ตโนแฮนด์ ดำเนินงานกิจการสำหรับผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนในส่วนของการสร้างผลิตภัณฑ์จากงานศิลปะ งานด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การขาย การตลาดออนไลน์ เพื่อให้ศิลปินมีรายได้เลี้ยงชีพตนเองได้ และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์ ได้จัดตั้งและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์ มีความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างพื้นที่แห่งโอกาส การเกื้อกูล การสนับสนุน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนปกติให้ยอมรับในความสามารถของคนพิการเพิ่มมากขึ้น และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคมได้แท้จริง
วัตถุประสงค์มูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์
1. เพื่อสนับสนุนผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสที่มีพรสวรรค์ด้านงานศิลปะ นำผลงานมาต่อยอดเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
2. เพื่อส่งเสริมแนวความคิด ในการใช้ศักยภาพสูงสุดของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสผ่านผลงานศิลปะ หรือผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่ทำได้จากฝีมือตนเอง
3. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์หรืออื่น ๆ แก่ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสที่มีความสามารถด้านงานศิลปะ ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
4. เพื่อส่งเสริมการศึกษา การให้ความรู้ ให้คำแนะนำด้านการตลาด การขาย การประชาสัมพันธ์แก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์
5. สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อกิจกรรมการกุศล และองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์
6. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
VISION
มูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์ คือ ผู้นำด้านการพัฒนางานศิลปะของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
ส่งเสริมผลงานศิลปะออกสู่ตลาดให้เป็นที่ยอมรับ
MISSION
1. สนับสนุนให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะ
2. นำผลงานมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์
3. นำเสนอผลงานจากผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสออกสู่ตลาดและสร้างการยอมรับ
4. สร้างรายได้ให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้มีอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้
ประกาศจัดตั้งมูลนิธิอาร์ตโนแฮนด์