เส้นทางเด็กหนุ่ม “ศิลปิน” ผู้มีข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่กลับใช้ข้อจำกัดนี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดความขยันหมั่นเพียรฝึกฝน ด้วยการใช้อวัยวะที่มีอยู่ ปาก ไหล่ และเท้า จนกลายเป็นความสามารถพิเศษ รังสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างอัศจรรย์
กระทั่งชีวิตของ เอกชัย วรรณแก้ว หรือ “พี่เอก” พลิกผันกลายเป็นที่ยอมรับ...ในวงการศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการส่งผลงาน เข้าร่วมแสดงงานศิลปะนานาชาติ ทำให้ใช้ศิลปะนี้เลี้ยงชีพตลอดมา...
แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ยังย้อนมองกลับไปถึง “ผู้ด้อยโอกาส” ในการนำเงินบางส่วนจากรายได้ในการ “วาดรูป” ช่วยเหลือคนอื่นที่เป็นการส่งมอบโอกาสด้วย “โครงการบ้านศิลปะเอกชัย วรรณแก้ว ศิลปะเพื่อผู้ด้อยโอกาส” กลายเป็นคนต้นแบบ “ศิลปินนักสร้างแรงบันดาลใจ” คอยเติมไฟให้กับคนย่อท้อ หมดหวัง...
หากย้อนภาพความทรงจำ “เอกชัย วรรณแก้ว” ที่กลายเป็นความปลาบปลื้มของคนไทยทั้งประเทศ...ในปี 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา...
คราวนั้น...ได้เสด็จลงจากที่ประทับ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ “บัณฑิตหนุ่มร่างเล็กพิการ” ที่ใช้ไหล่รับแทนมือ เพราะไร้แขนสองข้าง มีเพียงเท้าสั้นๆเท่านั้น อีกทั้งยังทรงมีพระปฏิสันถารเกี่ยวกับเรื่องการดำรงชีวิต และได้ชมเชยว่าเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนทั่วไป...
เรื่องราวชีวิตของศิลปินนักสร้างแรงบันดาลใจข้างต้นนี้ “ทีมข่าวสกู๊ป” มีโอกาสได้ติดตามภารกิจในการออกช่วยเหลือแจกจ่ายข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นให้กับ “ผู้ยากไร้” ที่กำลังเดือดร้อนจากผลกระทบในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดขณะนี้ในหลายพื้นที่...
ตั้งแต่พุทธมณฑลสาย 3 พุทธมณฑลสาย 4 เขตหนองแขม เขตหนองภาษีเจริญ ชุมชนใต้สะพานพระราม 7 ชุมชนใต้สะพานพระราม 8 และชุมชนริมทางรถไฟตลิ่งชัน
ในช่วงหยุดพักแจกสิ่งของนี้ “พี่เอก” เล่าว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้มีผู้เดือดร้อนมากมาย จึงจัดโครงการ “ยิ่งให้ยิ่งได้” ด้วยการเขียนภาพจำหน่ายหารายได้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนี้
เพราะตัวเองก็เคยเผชิญกับปัญหาชีวิตลักษณะเช่นนี้มากมาย ก่อนจะมายืนในอาชีพ “ศิลปินนักวาดภาพอิสระ” และเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ในองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา
สาเหตุ “ร่างกายพิการนี้” ตั้งแต่จำความได้ก็มีข้อสงสัยเช่นกัน เพราะมีรูปร่างไม่เหมือน “พี่ชายและพี่สาวทั้ง 4 คน” จนมีอายุ 5 ขวบ ได้สอบถาม “พ่อแม่” แต่มักไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ความเป็นไปได้คือ...“ครอบครัว” อาศัยอยู่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีอาชีพเกษตรกรรมด้วยการทำไร่ทำนา ที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในระหว่างนี้เอง ...“แม่ตั้งท้อง” ที่ยังคงทำงานเกษตรปกติ อาจเป็นไปได้ที่รับ “สารเคมี” มีผลต่อ “การตั้งครรภ์” ทำให้เป็นคนไม่มีแขนและขาก็สั้นนี้...
เรื่องนี้...เป็นสาเหตุไม่กล้าออกจากบ้านเพราะกลัวถูกล้อเลียน หรือกลั่นแกล้งให้รู้สึกอับอาย จนมีพัฒนาการ...ช่วยเหลือในการอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ทำความสะอาดบ้าน และพอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อยู่บ้าง กระทั่งอายุ 6 ขวบ...เริ่มต้องการ “เรียนหนังสือ” เพื่อจะได้เล่นกับเพื่อนๆ และอยากอ่านออก เขียนได้เหมือนคนอื่น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ “ฝัน” เมื่อผู้อำนายการโรงเรียนยุคนั้น...ปฏิเสธไม่ยอมรับ “เด็กพิการ” เข้าเรียนในโรงเรียนคนปกติ ถ้าหากต้องการ “การเรียนหนังสือ” ควรไปโรงเรียนสอนคนพิการ...
ตอนนั้นยอมรับไม่เข้าใจว่า...“ความพิการคืออะไร” เพราะไม่เคย ถูกคนล้อเลียนมาก่อนเลย ทำให้เป็นครั้งแรกที่ “รู้สึกเจ็บปวดที่สุดในชีวิต” ในความพิการนี้กลับไม่ได้ “รับสิทธิเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป” แต่เรื่องนี้ก็ไม่ทำให้ “ย่อท้อ” กลับเป็นแรงผลักดันในการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับเหมือนคนอื่น
มีการเรียกร้องสิทธินี้ยาวนานกว่า 6 ปี จนปรับเปลี่ยน ผอ.โรงเรียนคนใหม่ ทำให้ได้เข้าเรียนหนังสือชั้น ป.1 ตอนมีอายุ 13 ปีแล้ว และใช้โอกาสที่ได้รับนี้ “ตั้งใจเรียน” ฝึกฝนในการใช้เท้าเขียนหนังสือ และวาดการ์ตูน
ส่งผลให้สามารถเรียนหนังสือได้เร็วกว่าเพื่อนชั้นเดียวกัน
ส่วนบรรยากาศในโรงเรียน “ทุกคนเข้าใจดี” มีแต่ “คนรัก” ที่ให้การช่วยเหลืออยู่เสมอ มีเพียงบางครั้ง “น้องชั้นอนุบาล” มีข้อสงสัยด้วยความไร้เดียงสา มักมาสอบถามบ่อยๆ แต่ก็มีวิธีอธิบายให้น้องๆ เข้าใจด้วยดี...
และมีโอกาสเรียนในโรงเรียนเทคนิค สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ แต่รู้สึกอึดอัดไม่มีความสุข เพราะต้องท่องสูตรอิเล็กทรอนิกส์ หากวันใดได้เรียน “ศิลปะ” กลับมีความสุขสบายใจเสมอ ทำให้ตัดสินใจหันมาเรียน “ศิลปะ” และเรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อนให้ญาติใกล้ชิดคัดค้าน...
เพราะอย่างน้อย...“การเรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์” สามารถเปิดร้านซ่อมในชุมชนหาเงินได้ แต่ “ผู้เป็นพ่อ” กลับไม่สนใจคำพูดคัดค้านนั้น อีกทั้งยังสนับสนุนให้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำให้จุดประกายในการ “ฝึกฝนวาดรูป” ให้เกิดความชำนาญ มีผลงานสอบได้ “เกรดเอ” มาตลอด...
อีกทั้งยังได้เป็นตัวแทนการแข่งขัน “วาดรูประดับจังหวัด” คราวนั้นไม่ใช่ “ตัวเก็ง” ด้วยซ้ำ เพราะถูกส่งตัวไปให้ครบจำนวนคนเข้าแข่งขันเท่านั้น แต่กลับ “ชนะเลิศ” จำได้ว่ารางวัลคือ ผ้าขนหนู สี กระดาษวาดรูป และเงินสด 300 บาท นำมาโชว์ในชุมชน จนเกิดความภูมิใจ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความฝันในอาชีพศิลปิน...
กระทั่งจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาศิลปกรรม “เกรดเฉลี่ย 3 กว่า”...ตอนนั้นคิดว่า “การเรียนพอแล้ว” เพราะเด็กต่างจังหวัดสามารถเรียนถึงระดับนี้ถือว่า “สูงสุดในชีวิตแล้ว” แต่ระหว่างนี้ “ครูที่ปรึกษา” เรียกมาคุยสนับสนุนให้เรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่ต้องเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯเท่านั้น...
ยอมรับตอนนั้นรู้สึกว่า...“เป็นไปไม่ได้” เพราะไม่มีญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญ “ครอบครัว” ไม่มีเงินส่งเรียนได้แน่นอน กระทั่ง “ครูที่ปรึกษา” ได้เข้ามาพูดคุยกับพ่อแม่ 3 ครั้ง แต่ไม่เป็นผล จนพี่ชายคนที่สอง ออกปากจะเป็นผู้ส่งเรียนเอง ด้วยการ “ขายวัวส่งเงินเป็นค่าเทอม” ทำให้สามารถสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่างได้สำเร็จ
ในวันมอบตัว...มีเงินติดตัวมากรุงเทพฯ 3,000 บาท และขอพักที่วัดแห่งหนึ่งกลับถูกปฏิเสธ เพราะไม่มีเงินถวายปัจจัย 1 แสนบาท ขณะนั้นเงินนี้ซื้อที่ดินได้สิบกว่าไร่ด้วยซ้ำ ก่อนมี “รุ่นพี่ในหมู่บ้านเดียวกัน” ชวนไปอยู่ด้วย “แถวสี่แยกบ้านแขก” ที่ต้องเดินมาเรียนทุกวัน และตอนอยู่ปี 2 ย้ายมาอยู่บ้านพักในโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษ
เส้นทางชีวิต...“การเรียนก็ไม่ได้เรียบง่าย” เพราะต้องดิ้นรนเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ทั้งค่าเทอม ค่ากินอยู่ ค่าอุปกรณ์การเรียน ในทุกวันต้องออกไป “นั่งเขียนรูป” ใต้สะพานพุทธ แต่ไม่มีใครจ้างเขียนเลยกว่า 6 เดือน จนมาทำงานเป็น “ลูกมือรุ่นพี่เพาะช่าง” ในการผสมสีแลกข้าว 1 กล่อง และเงิน 100 บาท
มีวันหนึ่ง...งานเขียนรูปของรุ่นพี่คนนี้ล้นมือ เขียนไม่ทัน ทำให้มีโอกาสแสดงฝีมือเขียนเป็นรูปแรก...ได้ค่าตอบแทน 300 บาท ยอมรับว่า...รูปนี้ตั้งใจเขียนมากชนิดแบบราคา 300 บาท เขียนให้เป็นราคา 3 หมื่นบาท เริ่มมีคนเห็น “ฝีมือ” ทำให้มีงานเขียนรูปต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมีโอกาสได้ออกรายการทีวีช่องหนึ่ง...
ครั้งนี้...ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้า เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานทุนให้เรียนต่อจนจบชั้นปริญญาตรีในที่สุด
ต่อมาในปี 2555...ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจาก สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยัง ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา และพระองค์ตรัสว่า “อยากให้เรียนต่อในระดับปริญญาโท” และได้พระราชทานทุนการศึกษาให้มีโอกาสได้เรียนสาขาศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
นี่คือ...“ชีวิตชายผู้มีร่างกายพิการ” แต่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา ได้ใช้พลังใจสยบข้อจำกัดทางร่างกาย กลายเป็น “ผู้ถูกยกย่อง” มีชื่อเสียงโด่งดังก้องโลก เพราะดำรงชีวิตด้วยความเพียรนี้ตลอดมา...